กฤษฎา บุญเฉลียว
Joya 49 Photography
“ถ่ายภาพให้มีความสุขก่อน..” คำตอบพาหัวใจยิ้มจากช่างภาพ Cityscape อารมณ์ดี
บ้างมุ่งเข้าสถาบันการถ่ายภาพ ค่อย ๆ ยํ่า ค่อย ๆ นวด จนทฤษฎีและทักษะแน่นหนาจึงออกมาโลดเต้น บ้างแสวงหาคอร์สอบรม เวิร์กช็อป ต่อยอดประสบการณ์จากกูรูผู้ประสบความสำเร็จ
และบางส่วนเสี้ยวเที่ยวเสาะแสวง “ความเข้าใจ” เอาจากการทดลองถ่าย ทดลองทำ ตามคำบอก ตามคำแนะ ตามแต่ถามไถ่ เพื่อความกระจ่างด้วยตนเอง ทุกวัน.. ทุกวัน.. จาก 0 จน 10
“จ้อย – กฤษฎา บุญเฉลียว” ช่างภาพ Architecture & Cityscape มากประสบการณ์ คือ “หนึ่ง” ในประดานั้น
“พื้นเพครอบครัวผมเดิมเป็นชาวเรือนแพจากนครสวรรค์ แต่ได้ย้ายลงมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ผมยังเด็ก”
ช่างภาพหนุ่มใหญ่เริ่มต้นฉายเรื่องราวครั้งอดีตของตัวเองให้เราฟัง ก่อนไล่ต่อว่าเขาเป็นเด็กนักเรียนยุค ม.ศ. 3 รุ่นสุดท้ายของโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และได้เลือกเข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างเปรมฤทัย สาขาสถาปัตยกรรม ด้วยรู้สึกว่าตัวเองมีความชอบวิชาทางด้านนี้เป็นพิเศษ
“เวลาเรียนเขียนภาพไอโซเมตริก (Isometric) ผมรู้สึกว่าตัวเองสนุกและสามารถทำคะแนนออกมาได้ค่อนข้างดีเสมอ พอดีกับช่วงที่เรียน ปวช. น้าเขยที่จบมาจากอุเทนถวาย (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย : ปัจจุบัน) ชอบมานั่งเขียน Perspective ก็เลยยิ่งมีโอกาสได้สัมผัสงานประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง รู้สึกว่ามันสวยดี เราก็น่าจะเขียนได้เลยเลือกเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม”
เป้าหมายตอนนั้นของคุณคือ
“เพื่อที่จะได้เป็นสถาปนิกครับ ได้ออกแบบ เขียนแบบบ้าน เป็นความคิดตอนนั้นนะครับ”
ระหว่างนั้นคุณมีความสนใจในการถ่ายภาพขึ้นมาบ้างหรือยัง
“ยังเลยครับ.. เอาจริง ๆ ผมเพิ่งเริ่มสนใจการถ่ายภาพอย่างมากยังไม่ถึง 10 ปีเลยด้วยซํ้า แต่ถามว่ามีแบบที่ผ่านตาผ่านมือมาบ้างไหม.. ก็ต้องบอกว่ามี เหมือนเด็กผู้ชายที่ต้องมีกล้องไว้บันทึกภาพเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไป โดยที่เราไม่รู้หรอกว่ารูรับแสงคืออะไร ชัตเตอร์สปีดมีไว้ทำไม รู้คร่าว ๆ แค่ว่าเมฆอย่างนี้ต้องเปิดประมาณ f8, f11 ปรับโฟกัสให้ชัด ที่เหลือปล่อยให้กล้องทำงาน ถ่ายเสร็จก็เอาไปล้าง-อัดเพื่อดูภาพแค่นั้น ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้ง”
จะว่าไปชีวิตก็คงเหมือนสายนํ้าที่ครั้งหนึ่งเขาเคยจากมา ย่อมมีคลื่นลมพัดโถมกระหน่ำเป็นอุปสรรค เมื่อทางบ้านไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้
“ตอนนั้นผมเครียดมาก นั่งร้องไห้ว่าคงไม่ได้เรียนสถาปัตย์ต่อแน่ แต่ใจผมอยากเรียนมากจริง ๆ สุดท้ายก็เลยเลือกที่จะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย พอดีทางโรงเรียนช่างก่อสร้างเปรมฤทัยเขามีเปิดสอนภาคคํ่าด้วยเลยเป็นเหตุให้ได้พาตัวเองเข้ามาอยู่ในแวดวงสถาปนิกนับตั้งแต่ตอนนั้น โดยผมเข้ามาอยู่ในฝ่ายโปรดักชั่นของบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด รับหน้าที่เขียนแบบให้ถูกต้องตามกฏหมายตามที่สถาปนิกออกแบบมา พอตกคํ่าก็ไปเรียนหนังสือต่อ ทำอยู่อย่างนี้จนจบ ปวส. ก่อนจะเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนคร (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร : ปัจจุบัน) โดยที่ยังทำงานไปด้วย”
อะไรคือเหตุผลของการทำงานอยู่ในสถานที่แห่งเดียวได้ยาวนานถึง 28 ปี
ผมว่าการทำงานด้านสร้างสรรค์มันไม่มีขีดกำหนด ธีมของโลกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ การสร้างสรรค์ผลงานมันก็เปลี่ยนไปตามเทรนด์ เราก็ได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ตลอด เมื่อเทรนด์เปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน มีวัสดุใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น ก็ต้องศึกษาว่ามันสามารถนำมาใช้ในงานของเราได้ไหม ผมว่าการเลือกที่จะทำอะไรที่เราถนัด เราจะทำมันออกมาได้ดี และที่สำคัญผมไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง ผมเอาสิ่งที่ตัวเองรักมาเป็นตัวตั้ง
ดูเหมือนคุณสนุกกับงานที่ทำอยู่เสมอ
โอ้.. ยังสนุกมากครับ ผมโชคดีมากที่ได้เจ้านายเป็นคนที่ให้โอกาส ท่านเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยสำหรับผม (คุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม – แบบร่วมสมัย) จุดเริ่มต้นในการถ่ายภาพอย่างจริงจังของผมก็มาจากโอกาสที่เจ้านายคนนี้หยิบยื่นให้
ความสนใจในศาสตร์ด้านการถ่ายภาพของกฤษฎาก่อตัวขึ้นเมื่อมือ Perspective รุ่นน้องในบริษัทนำภาพที่ไปถ่ายมาจากวังเวียงและหลวงพระบางมาให้ดู ซึ่งเขาได้แต่ตื่นตะลึงว่าทำไมรุ่นน้องถึงถ่ายทอดออกมาได้สวยขนาดนี้ และนั่นคือจุดที่ทำให้กฤษฎาเริ่มต้นทำความรู้จักกับโลกของการถ่ายภาพและการเดินทางอย่างจริงจัง
สรุปปีนั้นผมได้ตามไปวังเวียง-หลวงพระบางกับกลุ่มน้อง ๆ ด้วยอีกครั้ง เขาถ่ายภาพกันเราก็ถ่ายด้วย ตอนนั้นไปได้กล้อง Nikon D50 มือสองจากร้านโฟโต้ไฟล์มา ก็ถ่ายไปแบบไม่ได้คิดอะไร กล้องก็ทำงานของมันไป เดี๋ยวแฟลชก็กระดกแป๊ะขึ้นมาบ้าง คือไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย (หัวเราะ) น้อง ๆ ก็แนะนำพี่จ้อยมาถ่ายมุมนี้สิสวยแต่เราดูแล้วมันสวยตรงไหนวะ.. ตอนนั้นเป็นลักษณะของการถือกล้องถ่ายไปเรื่อยเปื่อยมากกว่า ยังไม่รู้เลยว่าภาพนี้ควรใช้ f-stop เท่าไหร่ ชัตเตอร์สปีดแค่ไหน ใช้หูฟังเสียงม่านชัตเตอร์เวลามันกระดกเอา กรึ่บ – กรึ่บ.. (ลากเสียง) เออเสียงสั้น ๆ เร็ว ๆ แบบนี้ภาพน่าจะไม่เบลอ (หัวเราะ) ไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่าทำไมเราโง่อย่างนี้!?! ไม่ได้แล้ว.. จะต้องถ่ายภาพสู้คนอื่นให้ได้!
คุณเริ่มต้นนับหนึ่งบนถนนสายนี้อย่างไร
เริ่มจากรวบรวมภาพของคนที่ไปเที่ยวด้วยกันในทริปนั้นมาดูว่าเขาถ่ายอะไรกันมาบ้าง ซึ่งภาพนั้นก็สวย ภาพนี้ก็สวย ทำไมมันสวยอย่างนี้ แล้วก็มาสังเกตเห็นว่าอ๋อเขาเล่นกับแสง เน้นแสง-เงากันทั้งนั้นเลย ถึงเริ่มเข้าใจว่าทำไมน้อง ๆ เขาถึงนัดเวลาว่าเดี๋ยวบ่ายสามโมงเจอกันนะพี่ แล้วเขามีการวางแพทเทิร์น เซ็ตนี้เมือง,สัตว์, คน, บ้านเรือน เป็น Content ของเขา แต่สิ่งพวกนี้เราไม่มีเลย เจออะไรก็ถ่ายไปเรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะ
ด้วยความที่ต้องถึงออฟฟิศค่อนข้างเช้า เวลาว่างก่อนเข้างานของกฤษฎาจึงหมดไปกับการควานหาความรู้ทางการถ่ายภาพผ่านเว็บไซต์และสังคมออนไลน์อย่างขะมักเขม้น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นย่อมหมายรวมถึง RBJ (วราณ สุวรรณโณ) ช่างภาพมือฉมังแห่ง pixpros.net ที่กฤษฎาแอบยกย่องให้เขาเป็นไอดอลทางการถ่ายภาพ
ผมจำคำพูดของ “คุณแอ่ว” (RBJ) ได้ดี เขาบอกว่าการถ่ายภาพไม่มีทางลัด หากอยากขึ้นยอดเขาก็ต้องค่อย ๆ เดินขึ้นมา ขั้นที่ 1, 2, 3,.. จนถึงขั้นสุดยอด นั่งกระเช้าขึ้นมามันก็จะไม่เห็นสิ่งต่าง ๆ ระหว่างทาง เด็กสมัยนี้ใจร้อน มาถึงตีนเขามันก็อยากจะนั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมาลงบนยอดเลย ซึ่งเขาจะไม่เห็นว่าระหว่างทางมันมีอะไร แล้วก็มีคนในกลุ่มแนะนำว่าต้องถ่ายภาพทุกวัน ถ้าอยากจะเป็นเขาจะช่วยสอนให้ ซึ่งเราก็นำกลับมาทดลองทำจริง ๆ ถึงเริ่มเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง ถ่ายเสร็จก็เอาภาพที่ทำการบ้านไปให้เขาช่วยดูว่าอย่างนี้ได้หรือยัง ถ้ายังไม่ได้ควรแก้ไขอย่างไร ทำซํ้าไปซํ้ามาอยู่อย่างนี้ทุกวัน จนค่อย ๆ เข้าใจถึงองค์ประกอบของการถ่ายภาพมากขึ้น ผมใช้เวลาในช่วงเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อยู่ประมาณ 8 เดือนเต็ม โดยที่ถ่ายภาพทุกวัน
จากจุดที่เริ่มต้น พัฒนาการในเรื่องอุปกรณ์การถ่ายภาพของคุณขยับปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหนบ้าง
ในช่วงระยะ 8 เดือนของการเรียนรู้ จาก Nikon D50 ก็ขยับปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ เป็น D80, D300 จนมาถึง D700 นั่นคือช่วงที่ลองผิดลองถูก เรื่องอุปกรณ์เราไม่ซีเรียสไงครับ ซื้อเพราะอยากได้คุณภาพไฟล์และประสิทธิภาพของกล้องที่ดีกว่า จะว่าโดนป้ายยาก็อาจมีส่วน (หัวเราะ) แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่สุดท้ายผมได้เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพในสายโปรเลยก็คือเจ้านายครับ แกว่า.. เดี๋ยว ๆ ก็เปลี่ยนอีกแล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนให้สุดไปเลย ผมก็ว่าสุดเลยนี่มันสองแสนกว่าเลยนะครับ พี่ให้ผมยืมไหม.. (หัวเราะ) เออ มึงก็ไปทำเรื่องมาสิ เอ้า.. คราวนี้เราได้ช่องแล้ว สุดท้ายจาก D700 จึงกลายมาเป็นบอดี้ตัวท็อปสุดในสาย คือ D4 ตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ทำไมเขาถึงอยากสนับสนุนคุณให้เดินมาให้สุดทาง
เจ้านายผมเป็นคนที่ให้โอกาสครับ เขาจะดูว่าเรามีความสามารถทางด้านไหน เราเป็นคนประเภทไหน อย่างเวลาบริษัทจะจ้างให้ใครไปถ่ายงานโครงการ แกก็จะฝากฝังช่างภาพแล้วบอกเฮ้ยเอาจ้อยมันตามไปด้วยคนนะ ให้ผมออกไปเรียนรู้ว่าช่างภาพอาชีพจริง ๆ เขาคิดอย่างไร ทำงานอย่างไร แรก ๆ น้องช่างภาพก็เกรงใจช่วยอธิบาย ผมก็ถามแหลกเพราะอยากรู้นี่ จนวันหนึ่งเรากลายเป็นคู่แข่ง เดี๋ยวนี้ถามอะไรไม่ค่อยบอกแล้ว (หัวเราะ)
เมื่อได้รับโอกาส คุณได้นำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายงานลักษณะนี้ให้กับองค์กรของคุณบ้างไหม
ทุกวันนี้ผมรับงานถ่ายโครงการต่าง ๆ ที่ออฟฟิศออกแบบด้วยครับ แต่จะเป็นการรับถ่ายงานเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น เจ้านายผมสอนเสมอว่าห้ามลางานเพื่อไปถ่ายงานเด็ดขาด อันนี้อยู่ที่ตัวเราเองด้วยแต่เขาไม่สนับสนุน หากเป็นเสาร์-อาทิตย์ เต็มที่เพราะถือว่านอกเวลางาน อันที่สองห้ามเรียกเงินเท่ากับช่างภาพอาชีพ เพราะเขาไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ต้องไม่เรียกราคาแค่ครึ่งหนึ่งของพวกเขาเหมือนกัน เพราะนั่นกำลังไปตัดราคาเขา ต้องอยู่ระหว่างครึ่งหนึ่งของเงินเต็มกับตรงกลาง เพราะเราก็มีรายได้จากบริษัท
นอกเหนือไปจากแนวการถ่ายภาพอย่าง Architecture, Interior และ Exterior ตามที่ตัวเองถนัด กฤษฎาบอกว่าตัวเขาหลงใหลแนวการถ่ายภาพ Landscape อีกแขนง ด้วยเพราะความท้าทายที่การถ่ายภาพประเภทนี้ธรรมชาติคือผู้ถือหุ้นใหญ่สุด ตัวช่างภาพแทบกำหนดกะเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย
ถึงจะดั้นด้นไปตั้งแต่เช้ามืดโดยคาดหวังว่าจะเจอฟ้าระเบิด แสงอาทิตย์ขึ้นตรงนั้น ท้องฟ้าน่าจะเป็นสีชมพู เอาเข้าจริงเราอาจเจอแค่ฟ้าเน่า ๆ ก็เป็นได้ แต่ถ้าหากโชคดีเจอแบบที่คิดจริง ๆ เราจะจัดการอย่างไรกับมัน จะถ่ายค่าแสงเท่าไหร่ ต้องใช้ฟิลเตอร์เพื่อทอนแสงลงไหม ซึ่งมันมีระยะเวลาให้เราคิดและถ่ายอยู่แค่เพียงไม่กี่นาที จริง ๆ หลักการเวลาไปเที่ยวของผมง่าย ๆ คือ หากสถานที่นั้นมี Architecture สวย ๆ ด้วย ผมถ่ายแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ตึก ดีเทลที่ดี ๆ แล้วเวลาถ่ายก็ต้องเป็นสไตล์ของผมคือตึกจะต้องไม่ล้ม การถ่าย Architecture มันจะเป็นแกน X กับ แกน Y มันไม่สามารถที่จะทำให้ล้มไปทางใดทางหนึ่งได้ คนที่ถ่ายงานประเภทสถาปัตยกรรมถ่ายภาพตึกล้มไม่ได้ ส่งงานลูกค้าไม่ได้นะครับ เขาตีงานเราทิ้งหมด เพราะมันมี Perspective ของมันอยู่ และถ่ายงาน Architecture ไม่ต้องการฟ้าระเบิด ต้องการแค่ฟ้าเคลียร์ ๆ Architecture ชัดเจน
ข้อดีของคนที่ทำงานทางด้านนี้มาโดยตรงปรากฏชัดเจนกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสายนี้แล้วมาถ่ายภาพอย่างไร
ผมว่าเราจะดู Architecture หรืออาคารสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่สบายตาขึ้น คนทั่วไปอาจมีนั่นมีนี่ในภาพ หรือถ่ายมาแบบเอนล้ม แต่ผมจะถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ถูกต้อง และหากตึกนี้เปิดไฟแล้วสวยผมก็จะรอ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการวางแผนไว้ก่อน
อุปกรณ์ถ่ายภาพที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
เดิมผมมี Nikon D4 ตามที่เจ้านายแนะนำในตอนนั้นว่าให้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีสุดเพื่อที่จะใช้งานยาว ๆ ไปได้อย่างน้อย 3-5 ปี ไม่ต้องมาเปลี่ยนกล้องทุกปี ซึ่งผมว่าเป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง เมื่อมันเป็นที่สุดเราซื้อก่อนก็ได้ใช้งานก่อน ได้ไฟล์งานที่ดีที่สุด ทำงานง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็มาซื้อ Df ไว้ใช้งานเพิ่มอีกหนึ่งตัว ล่าสุดเป็น D850 ที่เอามาไว้เสริมทัพเพื่อให้คุณภาพของงานออกมาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น บอกลูกค้าได้ว่าเราเลือกใช้อุปกรณ์ที่ดีที่สุดในการทำงาน ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ผมก็ใช้กล้องที่ดีที่สุดถ่าย เพราะมันคือ Signature ของเรา
เลนส์ถ่ายภาพที่คุณเลือกใช้
ผมเลือกใช้เลนส์ที่มันสุดที่สุดอีกเหมือนกัน อาทิ AF-S NIKKOR 14–24mm. f/2.8G ED, AF-S NIKKOR 24-70mm. f/2.8E ED VR, AF-S NIKKOR 70-200mm. f/2.8G ED VR II, AF-S NIKKOR 58 mm. f1.4G ตัวที่ชอบมากที่สุดในปัจจุบันคือ AF-S NIKKOR 105mm. f/1.4E ED เป็นเลนส์ที่มีความคมชัดสูงให้สีสันตรงกับที่ตาเห็น ตัวนี้ผมเอาไว้ใช้ถ่ายคนเป็นหลัก ส่วนงาน Architecture ตัวที่ใช้คือ 14–24mm และ 24-70mm. หากต้องถ่ายเจาะดีเทลเพิ่มก็ใช้ 70-200mm. หรือ AF-S NIKKOR 200-500mm. f/5.6E ED VR
ด้วยภาระหน้าที่งานประจำและงานถ่ายภาพส่วนตัวที่ต้องขึ้นลงอาคารต่าง ๆ กลางเมืองมหานครแห่งนี้อยู่เสมอ กฤษฎาจึงมักสัมผัสโอกาสดี ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานแนว Cityscape อยู่อย่างต่อเนื่อง
ออฟฟิศที่ผมทำงานจะมีตึกที่ออกแบบอยู่แทบทั่วทั้งกรุงเทพฯ คอนโดมิเนียมที่ผุดเป็นดอกเห็ดในยุคนี้เป็นผลงานของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ไม่น้อย เลยมีโอกาสได้สัมผัสมุมมองในลักษณะนี้มากกว่าคนอื่น เวลาที่ต้องถ่ายพอมีไซต์งานขึ้นก็ขอเขาขึ้นบ้าง ให้ช่วยพาเราขึ้นไปบ้าง นอกจากได้งานที่ต้องไปถ่ายแล้ว ยังได้ภาพแนว Cityscape ในสไตล์ของผมเองเก็บไว้ด้วยเสมอ
ความยากง่ายหรือความท้าทายของภาพแนว Cityscape อยู่ตรงไหน
สำหรับ Cityscape เรามีเวลาอยู่แค่ประมาณ 15 นาที จริง ๆ ถ่ายเวลาอื่นก็ได้แต่ต้องเช้าครับ เกิน 8 โมงปุ๊บแสงเริ่มแข็ง หมายถึงแสงแดดมันจะค่อย ๆ กระด้างขึ้นจากแสงสีเหลืองที่ฉาบไล้ไปตามตึกต่าง ๆ พอดวงอาทิตย์ขึ้นสูงแสงแดดก็กลายเป็นสีธรรมดา แสงเริ่มแข็ง เงาคมเหมือนการถ่ายภาพคนตอนเที่ยงที่เห็นเบ้าตา หากเรามองว่าตึกคือคน จะถ่ายทอดอย่างไรให้เขาออกมาสวยงาม ซึ่งก็จะมีมุมมองที่ต่างกันออกไป ผมเปรียบตึกเหมือนผู้หญิงคนหนึ่ง อยู่ที่เราว่าจะถ่ายมุมไหน ถ่ายมุมชาวบ้านแบบหน้าตรงก็สวย แต่บางทีผู้หญิงบางคนแค่เห็นข้าง ๆ ใบหู มีแสงเงาหน่อยก็สวยได้เหมือนกัน นั่นเป็นวิธีที่ผมเริ่มมองหาว่าตึกนั้น ๆ ควรเป็นอย่างไร
มีคนเคยสะท้อนผลงานการถ่ายภาพแนว Architecture หรือ Cityscape ของคุณให้ฟังบ้างไหมว่าเป็นอย่างไร
เคยมีคนตั้งฉายาผมว่า “จ้อยฟ้าบลู” คือผมชอบถ่าย Cityscape ในช่วงที่ท้องฟ้าออกโทนสีนํ้าเงิน ฟ้าบลูของผมหมายถึงช่วงจังหวะเวลาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตก มันจะมี Timing อยู่ประมาณสัก 10-15 นาที ซึ่งเราต้องพยายามหาให้เจอ แต่หลังจากดวงอาทิตย์ตกเราก็จะคอนโทรลแสงอะไรไม่ได้แล้ว และพอแหล่งกำเนิดแสงต่าง ๆ เปิดไฟสว่างจ้าขึ้นมา ถ่ายไม่เห็นคนข้างในก็ไม่มีประโยชน์ แต่ช่วงเวลาแบบที่ผมว่า ถ่ายออกมาตึกก็ยังชัด บรรยากาศข้างในก็ยังเห็น สิ่งเหล่านี้มันใช้ได้ทั้งกับงานและภาพที่เราถ่ายเล่นด้วย ฉะนั้นรูปภาพสไตล์ของผมจะเห็นว่ามันยังชัดเจน ไม่มีให้เห็นว่าไฟตรงนั้นเบิร์นหรือตรงนี้มืดมองไม่เห็นอะไรเลย
มีภาพประทับใจภาพหนึ่งคิดว่าคนไทยหลายคนคงเคยมีโอกาสได้สัมผัส เป็นภาพพระเมรุมาศในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อยากให้คุณกฤษฎาช่วยเล่าที่มาของภาพนี้
คุณเป็นช่างภาพ ภาพประวัติศาสตร์คุณควรจะต้องมี มันคือเรื่องราวและสะท้อนว่ายุคนั้นคุณไปถึงตรงไหน ต้องบันทึกว่ามันเป็นภาพเหตุการณ์ บางครั้งภาพของเราอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่น นั่นคือสิ่งที่เจ้านายของผมบอก ก็เลยคิดว่าว่าใช่ ผมพลาดตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค ผมไม่เคยได้ไปบันทึกภาพเก็บไว้เลยแค่นั่งชมทางโทรทัศน์ ไม่ได้ขวนขวายที่จะพาตัวเองออกไปบันทึกภาพเพราะไม่ชอบการเบียดเสียดแย่งมุม รู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบดรามากับใคร
ส่วนในเรื่องของการบันทึกภาพนี้ ผมขึ้นไปบันทึกจากอาคารจุลดิศ พอดีมีน้องที่รู้จัก คุณแม่ของเขามีห้องอยู่บนตึกนั้นก็เลยขออนุญาตใช้สิทธิ์ พอถ่ายเสร็จปุ๊บผมรู้สึกว่าน่าจะเอาไฟล์ภาพมาทำอย่างนี้ ตอน Develop ใน Photoshop ผมเลือกทำภาพเป็นสองแบบ คือเป็นภาพสีก่อน จัดการตกแต่งอะไรให้เรียบร้อย Save แล้ว Convert อีกภาพให้เป็นขาวดำแต่ปรับให้โทนออกเป็นสีนํ้าเงินตุ่น ๆ โดยเลือกให้พระเมรุมาศเป็นสีเหลืองทองอร่าม ก็อาศัยความถึกของตัวเองค่อย ๆ นั่งลบสิ่งที่ไม่ต้องการออกทีละเล็กทีละน้อย ปรับแก้สัดส่วนต่าง ๆ ที่ผิดเพี้ยนให้ถูกต้อง คือผมทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ จุดประสงค์คืออยากถ่ายทอดให้เห็นความงดงามครั้งหนึ่งสำหรับคนที่เรารัก ก่อนที่พระองค์จะจากไป ผมเทิดทูนในหลวงมาก สิ่งที่เราทำได้เพื่อตอบแทนพระองค์ท่านในฐานะความเป็นช่างภาพคือการถ่ายทอดภาพนี้ออกไป
โดยปรกติคุณเลือกที่จะ Process ไฟล์ภาพเองในทุกขั้นตอนเลยหรือเปล่า
ผมเลือกที่จะทำเองทุกอย่าง เวลาถ่ายภาพสมมุติว่าเราคิดสเต็ปการทำงานออกเป็น 1-2-3 แล้วค่อยเอามารวมกันทีหลัง มันให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานลูกค้าหรืองานส่วนตัวผมเลือกที่จะทำอย่างนี้ ถ้าเป็นงานประเภท Architecture มันจะมีสัดส่วน ตรงนี้หากไม่เข้าใจจะจัดการอย่างไรล่ะ.. ถ่ายออกมามันก็ผิดสัดส่วน ผมไม่เคยซื้อเลนส์ Tilt-Shift มาใช้ เพราะว่าผมเข้าใจเรื่องของสัดส่วนว่ามันเป็นอย่างไรด้วยที่เราเรียนและทำงานอยู่กับมันมาเกือบทั้งชีวิต เรามีวิธีคิดและจัดการกับเรื่องสัดส่วนในแบบของเรา ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค
ในแง่ของการพัฒนาไฟล์ภาพ คุณทำอะไรกับมันบ้าง
แต่งสี ปรับความมืด ความสว่าง ปรับองศาให้ตรง โดยใช้โปรแกรม Lightroom ทำงานในเบื้องต้นแล้วค่อย Export ออกมาทำงานต่อใน Photoshop สมมุติว่าภาพภาพหนึ่งหากเป็นคนอื่นเขาอาจถ่ายมาเพียงภาพเดียวด้วยเลนส์ที่มี แต่ผมจะถ่ายมาเป็นพานอรามาสัก 8 ภาพ โดยวางเฟรมไว้ในหัวก่อน จากนั้นกางมือออกประมาณ 120 องศา สังเกตที่ปลายมือของเราดูว่ามันสิ้นสุดตรงไหน พอได้จุดแล้วก็ขยับกล้องค่อย ๆ ถ่ายไปเฟรมที่ 1, 2, 3, 4 เลื่อนลงมา ถ่าย 5, 6, 7, 8 พอได้มา 8 เฟรมแล้วค่อยนำมาต่อกันอีกครั้งในโปรแกรม ซึ่งภาพที่ได้อาจจะแหงนนิดหน่อย ค่อยนำมาดึงปรับสัดส่วนให้เข้าสูตรตามที่สเก็ตช์ไว้อีกครั้ง
นี่คือวิธีคิดของการถ่ายภาพแนว Architecture หรือเปล่า
ไม่ว่าจะถ่ายงานส่วนตัวหรืองานส่งลูกค้าก็ต้องแบบนี้ครับ บางกรณีภาพบางภาพต้องใช้พานอรามาต่อกัน เพราะเลนส์ที่มีอาจไม่สามารถใช้ถ่ายทีเดียวจบได้ แต่ถ้าหากว่าต่อภาพพานอรามาไม่เป็นนี่รับงานไม่ได้นะครับ (หัวเราะ) จะไปบอกลูกค้าว่าโอ้ย.. ผมถอยหลังได้แค่นี้ติดแล้ว มันก็จะได้ภาพตึกมาแบบที่บีบอัดแน่นดูแล้วรู้สึกอึดอัด แต่ภาพของผมมันไม่รู้สึกอย่างนั้นเพราะเรามีวิธีคิดในการทำงานแบบสถาปนิก เราเรียนสเก็ตช์ดีไซน์ เรียนการเทียบสเกลมา
ดูเหมือนผลงานของคุณส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากหน้าที่การงาน แล้วสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจการถ่ายภาพแขนงนี้ พวกเขาจะมีหนทางฝึกฝนฝีมือตนเองเพื่อสร้างสรรค์งานได้เช่นเดียวกับคุณบ้างไหม
มีสิครับ.. อันดับแรกต้องเข้าใจหลักการถ่ายภาพให้ถ่องแท้ก่อน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องพื้นฐานปรกติ
อันดับที่สอง ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ ต้องขึ้นตึก แต่ต้องขึ้นอย่างถูกต้องนะครับ ผมไม่เคยขึ้นตึกด้วยวิธีการแอบขึ้น (เน้นเสียง) ทุก ๆ ครั้งที่ขึ้น ผมขึ้นด้วยวิธีการถูกต้องมีคนพาขึ้น จะเสียค่าขึ้นหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะที่ผ่านมามีการแอบขึ้นแบบไม่ค่อยถูกต้องอยู่เสมอ แต่ผมแก่แล้วไงครับ.. เวลาถูกด่านี่ผมอาย (หัวเราะ)
อันดับที่สาม ควรเรียนรู้ก่อนว่าภาพลักษณะนี้ถ่ายอย่างไร เพราะบางคนถ่ายตึกออกมาเอนล้มตลอด ถามว่าผิดไหม.. ไม่ผิดครับ เขาอาจจะชอบแบบนั้น แต่หากชอบแนวทางแบบเดียวกับผม ตึกต้องตั้งตรง ต้องเรียนรู้เรื่อง Perspective และวิธีแก้ไข ถ้าหากเข้าใจเรื่องพวกนี้ Proportion จะดูแล้วสบายตา
มีคำแนะนำอะไรสำหรับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจการถ่ายภาพแขนงนี้บ้าง
สำคัญที่สุดเลยคือ “ถ่ายภาพให้มีความสุขก่อน” แล้วก็เรียนรู้ว่า Cityscape คืออะไร.. มันคือ “การถ่ายทอดภูมิสถาปัตย์ของเมือง” ฉะนั้นก็ต้องพยายามหาว่าอะไรคือพระเอก อะไรคือพระรอง สมมุติตึกคือพระเอก พระรองคือสวน ทีนี้เราจะเน้นอะไร เราต้องเอาพระรองขึ้นมาเสริมเพื่อให้ตึกมันดูดี แต่ต้องจับใจความให้ได้
ในขณะที่ช่างภาพอาชีพจำนวนมากเลือกที่จะแนะนำมือสมัครเล่นและนักถ่ายภาพหน้าใหม่ว่าควรทำอย่างนั้น ใช้เทคนิคอย่างนี้ หรือต้องมีอุปกรณ์ที่ไว้ใจได้เสียก่อน แต่ “จ้อย – กฤษฎา บุญเฉลียว” ช่างภาพหนุ่มใหญ่คนนี้ กลับฝากบอกเราไปถึงคุณว่า.. “ถ่ายภาพให้มีความสุขก่อน” และก่อนที่จะทำหน้าสงสัย เชื่อว่าหลายคนแอบยิ้มในหัวใจ ใช่.. เมื่อเริ่มต้นด้วยความสุข ทุกครั้งของการถ่ายภาพก็จะจบลงด้วยความสุขเช่นกัน
โดย ชวลิต แสงอินทร์
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/