ความไวแสงกล้องฟิล์ม ใครว่า เปลี่ยนไปๆ มาๆ ไม่ได้!!!!
ปกติแล้ว ก็มักจะเลือกความไวแสงฟิล์ม (ISO) ให้เหมาะสมกับภาพที่ต้องการ เช่น ถ่ายกลางแจ้ง ก็จะใช้ ISO100 หรือ 200
ความไวแสงฟิล์ม สำหรับกล้องฟิล์ม คือการเลือกฟิล์มให้เหมาะสมกับสภาพแสงที่ต้องการถ่ายรูป เช่น ถ่ายกลางแจ้ง ก็เลือกฟิล์ม ISO 100 หรือ 200 ถ่ายในอาคาร หรือช่วงแสงน้อย ก็อาจจะเป็น ISO 400 หรือ 800 เป็นต้น ซึ่งเมื่อเลือกฟิล์มและใส่เข้าไปในกล้องถ่ายภาพแล้ว ก็ต้องถ่ายไปตาม ISO ของฟิล์มจนหมดม้วน แล้วส่งล้างปกติ หรือถ้าต้องการปรับเปลี่ยนความไวแสง ก็สามารถปรับเพิ่ม หรือลดจากค่าปกติ ได้ แต่ต้องถ่ายตามค่านั้นจนหมดทั้งม้วน แล้วตอนส่งล้างก็ต้องแจ้งแลปล้างด้วยว่า เปลี่ยนค่า ISO เป็นเท่าไหร่ แลปจะได้ล้างฟิล์มตาม ISO ที่ใช้ถ่ายภาพได้อย่างถูกต้อง ..นี่คือการถ่ายภาพตามปกติ
แต่สำหรับกล้องฟิล์มบางรุ่น ที่ออกแบบให้การเปิดรับแสงเป็นแบบอัตโนมัติ หรือ Auto เช่น Full Auto กล้องปรับให้เองทั้งหมด หรือ Auto Shutter เราปรับรูรับแสงเอง กล้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ โดยปกติกล้องจะปรับค่าแสงให้พอดีตลอดเวลา ซึ่งบางครั้ง กล้องอาจจะปรับค่าวัดแสงผิดพลาด ถ้าหากว่าซับเจคต์ที่เราถ่ายมีโทนสว่าง ถ่ายภาพย้อนแสง หรือซับเจคต์มีโทนมืด เพราะการวัดแสงของกล้องทุกประเภท จะอิงการสะท้อนจากค่าเทากลาง 18% ซับเจคต์ที่มีโทนสว่างกว่าค่าเทากลาง จะมีการสะท้อนที่มากกว่า และซับเจคต์ที่มีโทนเข้มหรือมืดกว่าค่าเทากลาง ก็จะมีการสะท้อนที่น้อยกว่า ทำให้กล้องคำนวณค่าวัดแสงผิด ทำให้ได้ภาพที่ไม่ครงกับความเป็นจริง เช่น สว่างเกินไป หรือมืดเกินไป เป็นต้น
กล้องที่มีแป้นชดเชยแสง ก็สามารถหมุนแป้น ปรับค่าชดเชยแสงตามที่ต้องการได้เลย
ตามหลักการถ่ายภาพทั่วๆ ไป เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ช่างภาพจะต้องแก้ไขโดยการปรับชดเชยแสง ถ้ากล้องมีแป้นชดเชยแสง ก็ให้ใช้แป้นชดเชยแสงเลย ปรับไปทางบวก (+) ถ้าซับเจคต์มีโทนสว่าง หรือถ่ายย้อนแสง และปรับไปทางลบ (-) ถ้าซับเจคต์มีโทนมืด หรือสีเข้มๆ ..แต่ถ้ากล้องไม่มีแป้น หรือปุ่มชดเชยแสงนี้ล่ะ จะทำยังไง?
…กรณีแบบนี้ ให้เปลี่ยนความไวแสงฟิล์ม หรือปรับค่า ISO ใหม่ครับ
แต่การถ่ายฟิล์ม เค้าไม่ให้เปลี่ยน ISO ไปๆ มาๆ เหมือนดิจิตอลนะ ..ใช่ครับ ถ้าเราต้องการความถูกต้อง เวลาส่งฟิล์มล้าง การเปลี่ยนความไวแสงในกรณีนี้ ก็เพื่อต้องการหลอกกล้องให้วัดแสงผิด (แต่ถูกตามโปรแกรมของกล้อง) ซึ่งจะได้ค่าวัดแสงตามที่เราต้องการนั่นเอง
กล้องที่ทำงานแบบอัตโนมัติ มักจะมีปัญหากับบางสภาพแสง เช่น ถ่ายย้อนแสง ดังนั้นจึงต้องปรับชดเชยแสงให้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีแป้นปรับชดเชยแสงที่ตัวกล้อง จะต้องใช้วิธีการเปลี่ยน ISO หลอกกล้อง เพื่อให้ได้ค่าวัดแสงตามที่เราต้องการ
เช่น เราใช้ฟิล์ม ISO200 ถ่ายย้อนแสง หรือถ่ายซับเจคต์มีโทนสว่าง กล้องจะปรับค่าให้แสงพอดี ผลคือภาพมืดเกินไป แก้ไขโดย ลด ISO ให้ต่ำลง นั่นคืออาจจะตั้ง ISO ที่ 100 หรือ 50 ตามสภาพแสง แต่เวลาล้างฟิล์ม เราล้างที่ ISO200 ภาพนั้นก็จะสว่างขึ้นมา 1 หรือ 2 สตอป เหมือนเราสั่งล้าง Push นั่นเองครับ
กลับกัน ถ้าเป็นโทนมืด เราก็ต้องเปลี่ยน ISO ให้สูงกว่าฟิล์มที่ใช้ครับ เช่น ใช้ฟิล์ม ISO200 ก็ตั้งภาพนั้นที่ ISO400 พอเราล้างฟิล์มที่ ISO200 ภาพที่เราถ่ายที่ ISO สูงกว่า ก็จะอันเดอร์ หรือมืดลง โทนภาพก็จะตรงตามจริง หรือตามที่เราต้องการครับ แต่การปรับเปลี่ยน ISO พยายามอย่าให้เกิน 2 สตอป เพราะถ้าปรับมากกว่านี้ อาจจะทำให้สีเปลี่ยน หรือโทนเพี้ยนได้ครับ วิธีนี้ จะใช้เฉพาะภาพที่เราคิดว่ามีปัญหาแน่ๆ ปรับแล้ว อย่าลืมปรับกลับมาที่ค่าปกติด้วย เดี๋ยวจะเพี้ยนทั้งม้วนครับ
สรุปง่ายๆ ว่า การเปลี่ยน ISO ของกล้องฟล์ม ก็คือการปรับชดเชยแสงเพียงบางภาพ สำหรับกล้องบางประเภท ที่มีโหมดถ่ายภาพแบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว และไม่มีแป้นปรับชดเชยแสงนั่นเองครับ
..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ….
Leave feedback about this